Suriyayart : Thai Classical Astronomy

สุริยยาตร์ : ตำราคำนวณตำแหน่งดาวนพเคราะห์ ที่ตกทอดมาสู่สยาม

เป็นหลักในการเทียบทำปฏิทินจันทรคติไทย และ ปฏิทินโหร ตลอดจนการผูกดวง

วันจันทร์, พฤษภาคม 23, 2548

ว่าด้วย ดาราคติ (ราศี, นักขัตฤกษ์)


ในยามค่ำคืน เมื่อแหงนดูท้องฟ้าสังเกตด้วยตาเปล่า เราจะพบ ดาวอยู่ 2 ประเภท ประเภทหนึ่งแทบไม่มีการเคลื่อนที่ และอีกประเภทหนึ่ง มีการเคลื่อนที่

ดาวที่แทบไม่มีการเคลื่อนที่ จะเรียกกว้างๆ ว่า หมู่ดาวฤกษ์ สำหรับ ดาวที่มีการเคลื่อนที่ซึ่งจะสังเกตเห็นได้โดยตาเปล่าจะมีอยู่ทั้งหมด 7 ดวง คือ อาทิตย์ จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ และ รวมกับอีก ราหู และ เกตุ รวมเรียกว่า ดาวนพเคราะห์ (Nine Grahas)

(**แม้พระอาทิตย์สมัยปัจจุบันถือเป็นดาวฤกษ์อย่างหนึ่ง อีกทั้ง ราหูและเกตุ จะไม่ใช่ดาวก็ตาม **)

คนโบราณได้สังเกต และทราบถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเช่นนี้ จึงใช้ หมู่ดาวที่เป็นฉากพื้นหลังนั้น มาเป็นเครื่องมือในการวัดบอกตำแหน่งการเปลี่ยนแปลงของดาวนพเคราะห์

พระอาทิตย์นั้น เมื่อสังเกตดู จะพบแนวเส้นทางเคลื่อนที่จะเกิดเป็นเส้นทางอยู่เส้นทางหนึ่ง กำหนดเรียกเส้นนี้ว่า สุริยวิถี (Ecliptic Line) โดยเส้นสุริยวิถี ก็ได้ทอดผ่านหมู่ดาวฤกษ์เบื้องหลัง หากเทียบไปจนครบรอบ ไปทีละเดือนๆ (ข้างขึ้นข้างแรม) ก็จะปรากฏประมาณได้อยู่ 12 กลุ่มดาว ก็จะกลับมาอยู่ที่เดิม

โบราณาจารย์ จึงมีการจัดระเบียบหมู่ดาวที่พระอาทิตย์พาดผ่านเสียใหม่ แบ่ง 1 รอบปีดาราคติเป็น 12 ส่วนเท่าๆ กัน เรียกหมู่ดาวฤกษ์แต่ละกลุ่มนี้ใหม่ ว่า ราศี (Rashi, Zodiac)

ส่วนหมู่ดาวอื่นๆ ที่เหลือที่ไม่ได้อยู่ในแนวสุริยวิถีก็ไม่เรียกว่า ราศี แต่จะเห็นเป็นกลุ่มดาว และมีการกำหนดเรียกชื่อ หมู่ดาว เป็นชื่อต่างๆ ตามแต่จินตนาการและความสร้างสรรค์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสังเกตหาทิศทาง และ ฤดูกาล ในตามค่ำคืนเดือนมืดได้

ด้วยระยะปีการกลับมาของพระอาทิตย์เทียบราศี กินเวลาอยู่ราว 365-366 วัน เพื่อความสะดวกในระบบเลข จึงได้แบ่ง ระยะวันในรอบปีนี้ใหม่เป็น 360 ส่วนเท่าๆกัน เรียกแต่ละส่วนของรอบปีนี้ใหม่ว่า องศา (Ongsa, Degree)

ในสมัยยังไม่เกิดระบบเลขทศนิยม คนโบราณได้รู้จักแบ่ง สัดส่วนย่อยขององศา ออกเป็น 60 ส่วนเท่าๆกัน เรียกว่า ลิปดา (Minute) และ แบ่ง ลิปดา ออกเป็นย่อยอีก 60 ส่วนเท่าๆ กันเรียกว่า วิลิปดา หรือ ฟิลิปดา ( Second )

ฉะนั้น 12 ราศี = 360 องศา
หรือ 1 ราศี = 30 องศา
และ 1 องศา = 60 ลิปดา
และ 1 ลิปดา = 60 ฟิลิปดา

สำหรับดาวเคราะห์อื่นๆ ที่เหลือ แนวทางโคจร เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะอยู่ใกล้เคียงกับแนวสุริยวิถี ฉะนั้น จึงใช้ หน่วยวัดมุมเชิง ราศี-องศา-ลิปดา-ฟิลิปดา จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือบอกตำแหน่งดาวนพเคราะห์ได้เช่นกัน และใช้เรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั่วทุกมุมโลก

เฉพาะสำหรับ พระจันทร์ นั้น การโคจรกลับมาของพระจันทร์รอบโลกเทียบพระอาทิตย์ จะเกิดเป็นปรากฏการณ์ ข้างขึ้นข้างแรม กินเวลาอยู่ประมาณ 29.5 วัน คนโบราณจึงมีการรู้จักนับวันข้างขึ้นข้างแรม และเกิดการประดิษฐ์เป็นปฏิทินจันทรคติขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตเทียบดาวฤกษ์เบื้องหลัง คนโบราณได้สังเกตพบว่า พระจันทร์จะใช้เวลาอยู่ราว 27 วัน กว่าๆ จึงจะกลับมาตำแหน่งเดิมเทียบดาวฤกษ์ จึงทำการแบ่ง 1 รอบเทียบดาวฤกษ์เบื้องหลังนี้เสียใหม่เท่าๆ กัน (ที่ปราสาทหินพนมรุ้ง ก็มีหลักฐานการวัดพระจันทร์เทียบดาวฤกษ์เช่นกัน)

สำหรับเทคนิคในการแบ่งใหม่ให้เท่าๆกันก็เป็นไปได้ระหว่างแบ่งเป็น 27 ส่วน หรือ 28 ส่วน แต่ด้วยเลข 27 นั้นมีตัวประกอบ ร่วม ระหว่างเลข 12, 30, 60, 360 จึงเป็นการเหมาะกว่าที่จะแบ่งเป็น 27 ส่วนเท่าๆกันแทน และเรียกแต่ละส่วนนี้ใหม่ว่า นักขัตฤกษ์ หรือ ดาวนักษัตร หรือ ดาวฤกษ์ (Nakshatars, Constellations)

ฉะนั้น 27 ฤกษ์ = 360 องศา
หรือ 1 ฤกษ์ = 360/27 = 40/3 องศา
= 40x60/3 ลิปดา = 800 ลิปดา

ด้วย 12 ราศี และ 27 ฤกษ์ ล้วนเป็น หมู่ดาวชุดเดียวกัน แต่เพียงคนละมุมมอง ฉะนั้นเพื่อทำให้สัดส่วนปรับมาลงตัวกัน จึงมีการแบ่งสัดส่วนให้ย่อยขึ้นใหม่ เกิดระบบเลขตัวคูณร่วมน้อย หรือ ค.ร.น.ขึ้น โดย ค.ร.น.ของ 12 และ 27 คือ 108

จึงได้มีการแบ่ง 12 ราศีออกเป็น 108 ส่วนเท่าๆกัน และแบ่ง 27 ฤกษ์ ออกเป็น 108 ส่วนเท่าๆกัน

ด้วย 12 ราศี = 108 ส่วน ฉะนั้น 1 ราศี =9 ส่วน หรือ มี องค์ประกอบอยู่ 9 ลูก เรียกแต่ละลูกนี้ใหม่ ว่า นวางค์ (นว+องค์)

ฉะนั้น 1 นวางค์ = 30/9 องศา = 30x60/9 ลิปดา = 200 ลิปดา
1 ราศี = 9 นวางค์
1 ฤกษ์ = 4 นวางค์

สำหรํบ 1 ราศี ซึ่งมี 9 นวางค์นั้น ได้มีการกำหนดชื่อเรียกแต่ละนวางค์ภายในราศี ว่า ปฐม, ทุติย, ตติย, จตุตถ, ปัญจม, ฉัฏฐม, สัตตม, อัฏฐม และ นวม ตามลำดับ

ส่วน 1 ฤกษ์ ซึ่งมี 4 นวางค์ ได้มีการกำหนดชื่อเรียกแต่ละ นวางค์ภายในฤกษ์ ว่า ปฐมบาท, ทุติยบาท, ตติยบาท และ จตุตถบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยัง รวมเอาทุกๆ 3 นวางค์ เป็น 1 ตรียางค์ และได้มีการกำหนดชื่อเรียกแต่ละ ตรียางค์ภายในราศีว่า ปฐมตรียางค์, ทุติยตรียางค์, ตติยตรียางค์ ตามลำดับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สมัครสมาชิก ส่งความคิดเห็น [Atom]

<< หน้าแรก